ความเป็นมา ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์


โครงการศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์

นับแต่ พุทธศักราช 2553 มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีโครงการรับสมัครเยาวชนและผู้สนใจเข้ารับฝึกหัดโขน โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และได้จัดการแสดงในวันที่ 20 เมษายน พุทธศักราช 2554 เนื่องในโอกาสฉลอง 100 ปีชาตกาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นบุคคลสำคัญของโลกรวมทั้งเป็นวาระเปิดอาคารสถาบันคึกฤทธิ์

หลังจากนั้นการเรียนการสอนนาฏศิลป์และดนตรีไทยโขนก็ดำเนินสืบเนื่องมา จนพุทธศักราช 2555 คณะกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์ฯ มีมติจัดตั้ง ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้านการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทย

ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ รับสมัครเยาวชนผู้สนใจและมีใจรักษ์ในวัฒนธรรมไทย โดยมุ่งเน้นเยาวชนจากชุมชนโดยรอบพื้นที่สถาบันคึกฤทธิ์ ให้มาเรียนรู้นาฏศิลป์และดนตรีไทย ซึ่งได้รับความกรุณาจาก ครูจตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โขน) พุทธศักราช 2552 และศิลปินคึกฤทธิ์ สาขานาฏศิลป์ (โขนยักษ์) พุทธศักราช 2553 เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ ดูแล ควบคุมการฝึกหัด ให้เป็นไปตาม ขนบและจารีตของโขน

ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ ได้รับความการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งด้านเงินทุนและสถานที่ฝึกซ้อม ตั้งแต่พุทธศักราช 2555 – 2563 เพื่อใช้การฝึกหัดโขนเป็นเครื่องมือให้เยาวชนได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีความโดดเด่นด้านการเคลื่อนไหวร่างกายให้สอดคล้องกับจังหวะดนตรี เป็นการออกกำลังกายที่เชื่อมโยงกับการฝึกฝนจิตใจและวินัยของผู้เรียน รวมทั้งการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเยาวชนทั้งด้านบุคลิกภาพและทักษะการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสมในความแตกต่าง

ปัจจุบัน ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ตั้งแต่พุทธศักราช 2565 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เปิดสอน 5 สาขา ได้แก่ โขน ละคร ดนตรีไทย พากย์โขน และขับร้องเพลงไทยเดิม นอกจากการเรียน การสอนแล้วศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ ยังได้จัดพิธีไหว้ครูดนตรี นาฏศิลป์ไทย เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการสืบสาน ประเพณีอันเป็นขนบธรรมเนียมปฏิบัติ ที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อ ครู อาจารย์